งานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3
ความเป็นมาของโครงการ
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีทางวิ่งจำนวน 2 เส้น คือ ทางวิ่งที่ 1 (01L/19R) อยู่ทางทิศตะวันตกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และทางวิ่งที่ 2 (01R/19L) อยู่ทางทิศตะวันออกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีระยะห่างกันประมาณ 2,200 เมตร อากาศยานสามารถบินขึ้น-ลงได้พร้อมกันทั้ง 2 ทางวิ่ง ซึ่งบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ได้ประเมินขีดความสามารถของทางวิ่งทั้งสองเส้นทางแล้วว่า สามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม จากการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีความจำเป็นต้องปิดซ่อมทางวิ่งทิศตะวันออก (01R/19L) ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2555 พบว่ามีผลกระทบต่อขีดความสามารถของทางวิ่ง โดยลดลงเหลือเพียง 34 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ในขณะที่ในชั่วโมงเร่งด่วนมีจำนวนเที่ยวบินขึ้น-ลงมากถึง 50 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ส่งผลให้เกิดความล่าช้าของเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออก ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้โดยสารเสียเวลาในการเดินทางมากขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงมีโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 เพื่อรองรับปริมาณจราจรทางอากาศที่มีแนวโน้มขยายเที่ยวบินเพิ่มขึ้นในอนาคต และเพื่อรองรับปริมาณจราจรในกรณีที่มีการปิดซ่อมทางวิ่งเส้นที่ 1 และเส้นที่ 2 ซึ่งการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับปริมาณจราจรได้เพิ่มขึ้น เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และในกรณีทางวิ่งทางขับสมบูรณ์และสภาพอากาศปกติดี จะมีเที่ยวบินเฉลี่ยวันละ 800-1,000 เที่ยวบิน ซึ่งมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2566
ที่ตั้งและแผนผังโครงการ
โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
โดยมีพื้นที่ก่อสร้างโครงการอยู่บริเวณทางทิศตะวันตกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขนานกับแนวคลองลาดกระบัง
โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แบ่งเป็น 2 กลุ่มงาน
กลุ่มงานที่ 1 : งานก่อสร้างทางวิ่ง ประกอบด้วย 5 ส่วนงาน 1. งานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และทางขับขนาน ก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ความยาว 4,000 เมตร กว้าง 60 เมตร ทางด้านตะวันตกขนานกับระบบทางวิ่งเส้นปัจจุบัน (ทางวิ่งเส้นที่ 1) โดยทางวิ่งเส้นที่ 3 จะใช้สำหรับการบินร่อนลงเป็นหลัก ส่วนทางวิ่งเส้นปัจจุบันจะใช้สำหรับการบินขึ้น ทั้งนี้ ทางขับขนาน (Parallel Taxiway) จะอยู่ขนานกับทางวิ่งเส้นที่ 3 โดยจะมีทางขับออกด่วนเชื่อมต่อถึงกัน2. งานก่อสร้าง Rapid Exit Taxiway และทางขับเชื่อม การก่อสร้าง Rapid Exit Taxiway หรือทางขับออกด่วน จะมี 7 เส้น เพื่อให้อากาศยานที่ร่อนลงบนทางวิ่งเส้นที่ 3 ไม่ต้องเสียเวลาอยู่บนทางวิ่งนาน และสามารถเคลื่อนตัวออกจากทางวิ่งเข้าสู่ทางขนานได้รวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้สามารถรองรับจำนวนเที่ยวบินได้มากขึ้น 3. งานก่อสร้าง Perimeter Taxiway ก่อสร้าง Perimeter Taxiway ต่อจากทางขับขนานไปทางทิศใต้ โดยเชื่อมระหว่าง Taxiway F และ Taxiway D เพื่อใช้เป็นทางขับให้อากาศยานสามารถขับเคลื่อนไปยังลานจอดได้สะดวก โดยไม่ต้องเคลื่อนตัดผ่านทางวิ่งเส้นปัจจุบันด้านตะวันตก (ทางวิ่งเส้นที่ 1) 4. งานก่อสร้าง Taxiway D Extension การก่อสร้าง Taxiway D Extension เป็นการต่อขยายทางขับเดิม เพื่ออำนวยความสะดวกให้อากาศยานสามารถขับเคลื่อนออกจากทางวิ่งไปยังลานจอดได้โดยตรง การก่อสร้างผิวทางของทางวิ่งและทางขับ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ - Flexible Pavement ผิวทางแอสฟัลต์ สำหรับทางวิ่งและทางขับทั่วไป - Rigid Pavement ผิวทางแบบคอนกรีต ผิวทางชนิดนี้จะสามารถรองรับน้ำหนักและแรงเฉือนได้ดี โดยจะก่อสร้างที่บริเวณจุดจอดรอก่อนเข้าทางวิ่ง (Holding Position) บนทางขับขนาน เพื่อให้บริเวณดังกล่าวมีความคงทนมากยิ่งขึ้น และก่อสร้างบริเวณ Taxiway D Extension-1 |
กลุ่มงานที่ 2 : งานปรับปรุงคุณภาพดิน
บริเวณลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
งานปรับปรุงคุณภาพดินบริเวณลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 มีพื้นที่รวมประมาน 917,000 ตร.ม. โดยใช้เทคนิคการปรับปรุงคุณภาพดิน ทั้งวิธี PVD Conventional Consolidation (PVD) พื้นที่ประมาณ 666,000 ตร.ม. และการปรับปรุงคุณภาพดินด้วยวิธี Vacuum Consolidation Method (VCM) พื้นที่ประมาณ 251,000 ตร.ม.